ปืนแข่ง IDPA เน้นปืนใช้งาน ไม่เจาะไม่ถ่วง

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จัดแข่งยิงปืนประจำปี ที่ศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธร 3 (ศฝร.ภ.3) ปีนี้เพิ่มการยิงรูปแบบใหม่คือ “IDPA” ที่มีการจัดสนามจำลองสถานการณ์ และตัดสินกันด้วยเวลา



สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จัดแข่งยิงปืนประจำปี ที่ศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธร 3 (ศฝร.ภ.3) เพื่อพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรด้านการใช้อาวุธปืน เป็นกิจกรรมที่ตำรวจทั่วประเทศเรียกแบบกันเองว่า “แข่งจอหอ” ตามชื่อตำบลที่ตั้งของศูนย์ฝึก และปีนี้เพิ่มการยิงรูปแบบใหม่คือ “IDPA” ที่มีการจัดสนามจำลองสถานการณ์ และตัดสินกันด้วยเวลา แตกต่างจากการยิงเน้นแม่นยำคิดคะแนนจากตำแหน่งรูกระสุนบนเป้าของระบบเดิม นับเป็นการวางแนวทางที่เหมาะสม สอดรับกับสภาพงานและวิวัฒนาการของอุปกรณ์คือตัวปืน

หลักการของ IDPA (International Defensive Pistol Association : สมาคมยิงปืนป้องกันตัว) เน้นปืนใช้งานจริง ผู้ก่อตั้งสมาคมเป็นนักกีฬายิงปืนรณยุทธ์ระบบ IPSC มาก่อน ที่แยกตัวมาเริ่มวงใหม่เพราะเห็นว่าปืนและซองพกสำหรับ IPSC กลายเป็นอุปกรณ์กีฬาเฉพาะกิจ ไม่เหมาะสำหรับงานของเจ้าหน้าที่รักษากฎหมาย หรือประชาชนใช้ต่อสู้ป้องกันตัว IDPA จึงกำหนดกติกาจำกัดการแต่งปืนอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ซองปืนต้องเป็นแบบที่ใช้งานจริง ไม่ว่าจะเป็นซองนอกสำหรับเจ้าหน้าที่ หรือซองพกในชายเสื้อสำหรับเอกชนที่ถือใบอนุญาตพกพาแบบไม่เปิดเผย แต่ยังใช้การจัดสนามจำลองสถานการณ์และตัดสินแพ้ชนะด้วยเวลา เช่นเดียวกับ IPSC

เพื่อความเสมอภาคด้านตัวปืนที่ใช้ IDPA จึงจัดแยกปืนเป็นประเภทหรือรุ่น (division) ต่าง ๆ ให้ปืนระดับเดียวกันแข่งกันเป็นกลุ่ม ซึ่งในการแข่งจอหอครั้งแรกนี้ จัดเฉพาะปืนสั้นกึ่งอัตโนมัติสี่รุ่น คือ SSP, ESP, CCP และ CDP ไม่จัดปืนลูกโม่

รุ่นแรก SSP (Stock Service Pistol) คือปืนโรงงานทั่วไป ยอดผลิตอย่างน้อยปีละ 2,000 กระบอก หรือถ้าเลิกทำแล้วต้องมียอดขายรวมอย่างน้อย 20,000 กระบอก ขนาดตัวปืนมาตรฐาน วัดโดยใส่ลงกล่อง 222x152x41 มิลลิเมตร ไม่จำกัดความยาวลำกล้อง น้ำหนักตัวปืนพร้อมแม็กฯ ไม่เกิน 1,220 กรัม ใช้กระสุน 9 มม.พาราฯ เป็นอย่างต่ำ แม็กฯ บรรจุครั้งละไม่เกิน 10 นัด ระบบไก ดับเบิล/ซิงเกิล, ดับเบิลล้วน หรือระบบเข็มพุ่ง ปืนดับเบิล/ซิงเกิล ต้องอยู่ในสภาพลดนก ยิงนัดแรกแบบดับเบิล ปืนที่เหมาะกับรุ่นนี้ เช่น กล็อก 34, กล็อก 17, สมิธฯ MP9 โปร, ซีแซด 75, SP-01, P-09, ซิก P226, P320 เป็นต้น ทั้งหมดห้ามถ่วงน้ำหนักเพิ่มจากสเปกโรงงาน เช่น ห้ามใช้แกนสปริงเหล็กแทนโพลิเมอร์ของเดิม, ห้ามแปะโลหะที่ฐานซองกระสุน และห้ามลดน้ำหนักลำเลื่อน ห้ามเจาะพอร์ตลำกล้อง ชิ้นส่วนที่จะเปลี่ยนใส่แทนของเดิมต้องเป็นยี่ห้อเดียวกับปืน และใส่ได้โดยไม่ต้องดัดแปลงใด ๆ (drop-in)



รุ่นที่สอง ESP (Enhance Service Pistol) มิติตัวปืนและขนาดกระสุนเหมือน SSP โดยไม่มีข้อกำหนดเรื่องยอดผลิตหรือยอดขาย ใช้ปืนไกซิงเกิลล้วนได้ ลำเลื่อนที่เจาะมาจากโรงงานใช้ได้แต่ต้องใส่ลำกล้องทึบไม่เจาะพอร์ต ใช้ลำกล้องคัสตอมได้ แต่ต้องเป็นขนาดกระสุนเดิม แต่งด้ามได้ ห้ามเสริมหน้าไก (trigger shoe) ทั้งนี้ ปืน SSP ลงแข่งในรุ่น ESP ได้ และสามารถเริ่มยิงนัดแรกแบบซิงเกิลได้โดยง้างนกเข้าห้ามไก ปืนที่เหมาะสม เช่น ซีแซด 75 SP-01 ชาโดว์ และ ปืน 1911 ใช้ได้แต่อาจเสียเปรียบความจุกระสุน คือใส่เต็มแม็กยังไม่ครบ 10 นัด

รุ่นที่สาม CCP (Compact Carry Pistol) ขนาดกระสุนและข้อจำกัดเหมือนรุ่น ESP แต่ลดมิติและน้ำหนักตัวปืนมาเป็นระดับพกพา คือต้องลงกล่องมาตรฐาน 197x136x35 มิลลิเมตร ลำกล้องยาวไม่เกิน 111 มิลลิเมตร ตัวปืนหนักไม่เกิน 1,075 กรัม บรรจุกระสุนครั้งละไม่เกิน 8 นัด ปืนที่เหมาะสมคือ กล็อก 19, สมิธฯ MP9c, หรือถ้างบไม่จำกัด ใช้ วิลสันคอมแบ็ต CQB คอมแพ็ค ก็ได้

รุ่นสุดท้าย CDP (Custom Defen-sive Pistol) จัดสำหรับนักนิยมปืน 1911 คลาสสิกโดยเฉพาะ คือกำหนดให้เป็นปืนกึ่งอัตโนมัติ ใช้กระสุนขนาด .45 ACP จุ 8 นัด มิติและน้ำหนักตัวปืนเหมือน ESP อาจใช้ปืนอื่นนอกเหนือจาก 1911 ได้ เช่น ซิก P220, ซีแซด 97, กล็อก 21 เป็นต้น.

....................................
ดร.ผณิศวร ชำนาญเวช ... อ่านต่อที่ : https://www.dailynews.co.th/article/641592
เสาร์ที่ 5 พฤษภาคม 2561 เวลา 05.00 น.
Share on Google Plus

About Volk-69

This is a short description in the author block about the author. You edit it by entering text in the "Biographical Info" field in the user admin panel.
    Blogger Comment

0 comments:

Post a Comment